วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

แหล่งกำเนิดแก้วโป่งข่าม


แหล่งกำเนิดแก้วโป่งข่าม

               แหล่งกำเนิด คือ บริเวณเทือกดอยขุนแม่อาบ ขุนแม่อวม และขุนดอยต่างๆ อันมีห้วยออกรู ดอยแม่ผาวง ดอยห้วยมะบ้า ดอยห้วยตาด ดอยโป่งหลวง ดอยห้อยกิ่วดู่ ดอยโป่งแพ่ง และดอยผาแดง เทือกเขาแม่อาบได้ให้กำเนิดลำห้วยแม่แก่ง และลำห้วยแม่เติน ซึ่งลำห้วยแม่แก่งเกิดมาจากดอยห้วยออกรูของดอยขุนแม่อาบ ส่วนลำห้วยแม่เตินเกิดมาจากดอยผาแดงที่อยู่ระหว่างดอยขุนแม่อวบและขุนดอยแม่อาบ เป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาพันวานที่กั้นระหว่างเขตเมืองเถินและเขตเมืองลี้ จังหวัดลำพูน 
   โดยที่อาณาเขตของบ่อแก้วโป่งข่ามอยู่ในตอนล่างของดอยขุนแม่อาบและดอยผาแดง อันเป็นขุนดอยที่เป็นใหญ่กว่าเขาดอยทั้งปวงในระเวกนั้น และได้กำเนิดเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของแก้วโป่งข่ามบริเวณศูนย์กลางของพื้นที่ดังกล่าว ที่เรียกกันว่า "ดอยโป่งหลวง" และได้ให้กำเนิดลำห้วยโป่งอยู่ระหว่างช่องดอยโป่งหลวงและโป่งแพ่ง ซึ่งห้วยโป่งได้ไหลไปรวมกับห้วยมะบ้าและห้วยแม่ผางวง ไหลลงสู่บริเวณหมู่บ้านนาบ้านไร่ แล้วไหลรวมกับห้วยบ่อช้างล้วงและลำห้วยแม่แก่ง ไหลไปบรรจบรวมกับแม่น้ำวังที่บริเวณบ้านสบเตินและบ้านสบแก่ง ซึ่งแม่น้ำวังเป็นสายน้ำสำคัญเสมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงผู้คนในเขตอำเภอเถินนี้ด้วยลำห้วยแม่แก่งที่จริงแล้วเป็เพียงลำห้วยเล็กๆ แทบจะไม่มีน้ำในยามฤดูแล้ง แต่ด้วยระบบชลประทานแบบเหมืองฝายของชาวบ้านจนสามารถเก็บกักน้ำได้ และสามารถจ่ายน้ำให้กับเขตพื้นที่ บ้านอุมลอง บ้านเวียง บ้านท่านาง บ้านล้อมแรด อันเป็นเขตพื้นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเถิน ทิศตะวันตกของแม่น้ำวัง 

ตำบลแม่ถอด เป็นตำบลที่อยู่ด้านทิศเหนือสุดของอำเภอเถิน และอำเภอเถินก็ตั้งอยู่ส่วนทางทิศใต้ของ

จังหวัดลำปาง





คำว่า "โป่งข่าม" หมายความว่า 

   คำว่า 
"โป่ง" ตามพจนานุกรมหลักภาษาไทยภาคพายัพ เรียบเรียงโดยพระธรรมราชานุวัตรราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ แปลคำว่า โป่งดิน คือ ดินโป่ง โป่งน้ำ คือ น้ำโป่ง มิได้แปลคำว่า โป่ง โดยเฉพาะ ส่วนพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ แปลคำว่า โป่งดิน คือ ดินที่มีเกลือ โป่งน้ำ คือ ช่องดินที่มีน้ำพุขึ้นมา คำว่า "โป่ง" หมายถึง ของที่พองลม เรียกผีที่อยู่ตามดินโป่ง ว่า ผีโป่ง เรียกป่าที่ดินโป่งว่า ป่าโป่ง

     คำว่า 
"ข่าม" หมายถึง การอยู่ยงคงกระพัน
   แล้วเมื่อเอาคำสองคำมารวมกัน จะแปลความหมายว่าอย่างไร
   บริเวณตามผืนป่าตามขุนดอยแม่แก่ง มีดินโป่งอยู่หลายแห่ง ก่อนที่จะถึงบริเวณที่เรียกว่าโป่งหลวง แหล่งกำเนิดโป่งข่าม โดยมีโป่งแกอยู่บริเวณด้านซ้าย และโป่งเพ่ง โป่งแม่ล้อม อยู่ถัดออกไป ล้อมรอบบริเวณที่เป็โป่งหลวง พระฤาษีที่อาศัยอยู่ในป่ามักอาศัยถ้ำเป็นที่พำนักอาศัย และอาศัยเกลือจากโป่งดินด้วย ที่เขตลำน้ำแม่แก่งของตำบลแม่ถอดนี้ีมีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่ง ที่สันนิษฐานว่าอาจจะเคยเป็นที่พำนักของพระฤาษีในสมัยโบราณ ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นวัดแล้ว คือ วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ นั่นเอง 
 
  โป่งหลวงเป็นสถานที่ที่มีสัตว์ป่าลงมาอาศัยกินดินโป่งมากเป็นพิเศษ และมีกิตติศัพท์ด้านความข่าม(ขลัง)ต่างๆ จึงได้เรียกว่า "โป่งดินที่ข่าม" ทั้งนี้คำว่าโป่งนี้อาจหมายถึงสิ่งที่ผุดขึ้มาด้วยก็ได้ เช่น โป่งน้ำร้อน ที่จังหวัดเชียงรายไส้เทียนที่ลงยันต์คาถาอาคมก็เรียกว่า โป่งเทียนดินที่เป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของพืช ก็เรียกว่า โป่งแห้ง ในเขตตำบลบ้านเป้า อำเภอเมือง ลำปางหินที่มีเนื้ออ่อนใช้ลับมีดได้ เช่น หินในเขตอำเภอแจ้ห่ม ก็เรียกว่า หินโป่ง ซึ่งชาวตำบลแม่ถอดนำมาใช้เจียระไนแก้วโป่งข่ามอยู่ด้วยเสมอ

   แหล่งแก้วตำบลแม่ถอด เป็นแก้วหินที่งอกอยู่ใต้ชั้นผิวดินในลักษณะที่ผุดขึ้นมาโดยช่องร้าวของชั้นดิน และจากการที่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา อาจจะีแปลความหมายว่าเป็นแหล่งที่ผุดขึ้นมาของความข่าม(ขลัง)คงกระพัน ณ สถานที่แห่งนั้นเป็นบริเวณโป่งแก้วอันล้ำค่า





   

   เรื่องราวของโป่งข่าม-ประวัติเรื่องความคงกระพัน

 
  ในเขตดอยโป่งหลวง เป็นบริเวณที่มีดินโป่งสำหรับสัตว์ป่าที่มาอาศัยกินได้ที่กว้างใหญ่ที่สุดในระแวกดอยต่างๆ อยู่ใกล้เขตป่าแพ่งที่เป็นต้นกำเนิดลำห้วยแม่โป่งที่ต่อมาได้ไหลไปรวมกับห้วยแม่แก่ง ยังให้เกิดดินโป่งอีก เช่น บริเวณโป่งแกและโป่งห่าง 
   เขตดอยโป่งหลวงมีพืชพันธุ์แมกไม้ร่มรื่น มีน้ำในลำห้วยเล็กๆไหลรินตลอดทั้งปี บริเวณดังกล่าวในสมัยโบราณใช้เป้นที่ชักลากไม้ไผ่และหาของป่า สำหรับขุมแก้วที่มีอยู่แม้จะมีการสืบทราบกันมานานแล้วแต่น้อยคนนักที่จะรู้แหล่งขุมแก้วต่างๆได้อย่างแน่นอน โดยวัตถุประสงค์ของผู้ที่เข้าป่ามีต่างกัน บางคนก็เข้าไปหาหน่อแก้ว บ้างก็หาของป่าล่าสัตว์ และก็ได้มีสกุลพรานป่าของบ้านแม่แก่ง ได้แก่ตระกูลของนายจี๋ สามีของนางปัน นามสกุลคำภิโรชัย มีผู้สืบสกุลสองคน ชื่อนางนวล และนายสุข นายจี๋เป็นน้าเขยของนายก๋วน เชื้อจิ๋ว อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๕ ตำบลแม่ถอด ซึ่งเป็นผู้ยืนยันเรื่องราวของนายจี๋ ว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวแก่ผู้เขียน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ดังเรื่องราวต่อไปนี้
   นายจี๋ คำภิโรชัย เสียชีวิตเมื่อมีอายุได้ ๙๐ ปี เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๘๐ นายจี๋เป็นพรานป่าเก่าแก่ของบ้านแม่แก่งรุ่นแรกๆ ซึ่งรุ่นหลังถัดมา คือ นายแก้วมูล ราชอุปนันท์ เป็นผู้นำเรื่องราวของนายจี๋มายืนยันประกอบได้ในฐานะที่เป็นพรานป่ามาด้วยกัน ย่อมมีเคล็ดบางอย่างเป็นสำคัญ
   เรื่องมีอยู่ว่า นายจี๋ไดออกไปล่าสัตว์บริเวณที่เป็นโป่งหลวง ปรากฏว่าเวลาที่ยิงปืนลูกปืนมักจะขัดลำกล้อง ยิงไม่ค่อยออกเป็นที่น่าประหลาดใจนัก ต่อมาก็ได้ทำคอกดักสัตว์ได้เก้งติดมาตัวหนึ่ง ก็หาวิธีฆ่าเก้งตัวนั้นเพื่อที่จะนำกลับไปบ้านด้วยวิธีใช้หลาวแทง แต่เก้งตัวนั้นก็รอดพ้นจากคมหลาวทุกครั้งไปและก็ได้หนีหลุดรอดไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ ได้สร้างความประหลาดใจรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงน่าสะกิดใจแก่พรานป่าเป็นอันมาก ทำให้นายจี๋ไม่กล้าออกไปล่าสัตว์บริเวณนั้นอีก เคยมีพรานป่าอื่นจะเผาป่าเพื่อล่าสัตว์บริเวณนั้น เมื่อจะจุดไฟ ไฟก็ไม่ติดไหม้ป่าแห่งนั้น และนายจี๋ก็ยังคงมีอาชีพพรานป่าแต่ก็คงล่าบริเวณอื่นที่ไกลจากบ่อโป่งหลวง เรื่องราวความคงกระพันอันมีคำว่า "ข่าม" จึงได้เกิดขึ้นมา ณ บริเวณนั้นควบคู่กับเรื่องของนายจี๋จากนั้นเป็นต้นมา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๔๔๐
   นอกเหนือจากอภินิหารแก้วโป่งข่ามแล้ว ยังได้มีพรานป่าและคนหาของป่าที่ผ่านบริเวณนั้น มักจะได้พบแสงประหลาดอยู่เนืองๆ ออกมาจากบ่อโป่งข่ามหลวง ซึ่งสมัยก่อนก็เคยมีผู้คนเห็นแสงประหลาดขึ้นมาจากราวป่า แต่ก็ไม่รู้ว่าพิกัดอยู่ ณ ที่ใด 




ข้อมูล : จากหนังสือขุมทรัพย์สังฆเติ๋นเนื่องในงานทอดกฐินสามัคคีถวายวัดสบคือ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
           เรียบเรียงและเขียนโดย อาจารย์ศักดิ์ สักเสริญ (ศักดิ์ ส.) รัตนชัย 
ประสบการณ์โป่งข่าม

   เกี่ยวเนื่องกับแสงประหลาด ได้เคยมีผู้พบเห็นบริเวณทางเข้าไปบ้านนาบ้านไร่ จากการบอกเล่าของยายเค็ด บ้านเวียง เล่าว่า เมื่อก่อนการทำการเกษตรจำเป็นที่จะต้องออกไปหาที่ทำกินและแหล่งน้ำจากแหล่งที่ใกล้ลำห้วยและพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านเวียงและบ้านอุมลองมักจะมีที่ทำกิน ไร่นา บริเวณ กม. 2-6 ถนนสาย เถิน-ลี้ ไปจนถึงบ้านนาบ้านไร่ เนื่องด้วยการเดินทางสมัยก่อนยังไม่สะดวกดังปัจจุบันอาศัยการเดินเท้าเป็นส่วนมาก จากการบอกเล่าของยายว่า วันหนึ่งขณะกำลังเดินทางไปไร่ที่ กม.การเดินทางต้องเดินทางเดินลัดท้องนาและป่าแพะ เวลาจวนพลบค่ำก็มาถึงตรงบริเวณเลยทางเข้าบ้านนาบ้านไร่ในปัจจุบัน ทันใดนั้นเองก็ปรากฎแสงสว่างสีเหลืองทองอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันตก แสงสว่างนั้นเป็นสีทองสุกสว่างอยู่ใต้โคนไม้ใหญ่ ลำแสงพุ่งขึ้นเป็นประกายสว่าง สวยงาม ครั้งแรกที่เห็นยายนึกว่าได้เห็นเพียงคนเดียว ครั้นจะสะกิดตาให้ดู ตาก็บอกว่าได้เห็นด้วยเหมือนกัน แสงสว่างนั้นสว่างมากกระทั่งเห็นกิ่งไม้ใบไม้ได้อย่างชัดเจน แสงสว่างปรากฏเป็นเวลาระยะหนึ่งก็ดับวูบลงไป จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ท่านว่าเป็นปรากฏการ "คำขึ้น" (ทองคำผุด) แสดงว่ามีสมบัติเก่าแก่หรือทองคำบริเวณนั้น ซึ่งพื้นที่บริเวณนั้นยังมีเรื่องราวปาฏิหารต่างๆอีกมากมายจากการบอกเล่าอีกหลายๆท่าน เช่น ผู้ที่ทำการเกษตรกรรมมักจะปลูกกระท่อมไว้พัก และเลี้ยงวัว มักจะพักค้างคืนในบางครั้ง ตกดึกมักจะได้ยินเสียงผู้คนเดินทางสัญจรไปมา เหมือนจะเดินทางไปร่วมงานประเพณีอะไรซักอย่าง ด้วยภาษาที่เจรจาพูดคุยไม่ใช่ภาษาถิ่นของเราอย่างแน่นอน และก็มองฝ่าไปในความมืดก็ไม่เห็นผู้สัญจรแต่อย่างไร อีกทั้งบริเวณนั้นเมื่อก่อนเคยเป็นทางช้างผ่าน หรือทางเดินของช้าง จะเป็นช้างป่าหรือช้างศึกก็ไม่อาจจะทราบได้ เคยมีผู้ไปแวะจอดรถข้างทางบริเวณนั้นตอนกลางคืน เล่าว่า ขณะจอดรถเพื่อจะทำธุระซักพักและขณะที่ยังติดเครื่องยนต์ของรถอยู่ ทันใดนั้นก็เหมือนมีอะไรมาเขย่ารถไปมาอย่างแรง ด้วยความตกใจกลัวจึงรีบออกรถโดยไม่่หันไปมองว่ามีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริเวณนั้นไม่มีสัตว์ใหญ่ที่พอจะเขย่ารถได้ ก็เป็นเรื่องเล่าเสริมเล็กๆน้อยๆ เพิ่มเติมครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัชรมณี: ไพลิน

วัชรมณี: ไพลิน : ไพลิน " ไพลิน ( Blue Sapphire)"   เป็นพลอยประจำเดือนเกิดของผู้ที่เกิดเดือนกันยายน และไพลินยังถือเป็นสัญญลักษณ...